วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

บันไดสเปน กรุงโรม,ประเทศอิตาลี(Spanish Steps Rome,Italy)

    
บันไดสเปน (อิตาลีScalinata della Trinità dei Monti) เป็นบันไดในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่เชื่อมระหว่าง Piazza di Spagna และ Piazza Trinità dei Monti เป็นบันไดที่กว้างที่สุดและยาวที่สุดในทวีปยุโรป มีขั้นบันไดทั้งหมด 138 ขั้น ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี ฟรานเชสโก เดอ ซองตีส์ (Francesco de Sanctis) กับ อเลสซานโดร สเปจจิ (Alessandro Specchi) สร้างขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1723-1725 ด้วยเงินจากกองทุนมรดกของนักการทูตฝรั่งเศส เอเตียน เกฟฟิเยร์ (Étienne Gueffier)
จัตุรัสสเปน
Piazza di Spagna ลานด้านหน้าบันไดสเปน กลางลานมี Fontana della Barcaccia น้ำพุไสตล์บาโรคยุคต้นรูปทรงเรือโบราณตั้งโดดเด่น สร้างขึ้นในปี 1627-1629 ผลงานของนักประติมากรชื่อดัง ปิเอร์โตร แบร์นินี่ บิดาของ จัน โลเรนโซ แบร์นีนี ประติมากรและสถาปนิกบาโรคที่มีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งกว่าผู้พ่อ ตามตำนานว่า พระสันตะปาปาอูร์บาโนที่ 8 มีดำริให้สร้างจำลองจากเรือที่ถูกพัดพามาจากแม่น้ำไทเบอร์ตอนน้ำท่วม
ที่มุมขวาของเชิงบันได จะเห็นอาคารที่เคยเป็นสถานที่พำนักอาศัยของกวีชาวอังกฤษ จอห์น คีตส์ จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1821 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ Keats-Shelley Memorial House เพื่อรำลึกถึงคีตส์และเพอร์ซี บิช เชลลี และยังเป็นหอจดหมายเหตุรวบรวมผลงานสำคัญ รวมทั้งต้นฉบับและงานเขียนของกวีในยุคโรแมนติกอีกหลายท่าน
ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือยุคเรอเนสซองส์ จัตุรัสแห่งนี้เป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว เป็นแหล่งรวมศิลปินและนักเขียน และเรียงรายด้วยโรงแรมและที่พักอาคารหรู
เทศบาลกรุงโรมได้ออกกฎระเบียบห้ามรับประทานอาหารบริเวณบันไดแห่งนี้ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงชอบที่จะนั่งพูดคุยกัน ทานอาหาร ดื่มน้ำและเครื่องดื่มต่างๆ อยู่เสมอ หลายครั้งมีการเล่นดนตรี การแสดงเปิดหมวกของเหล่าศิลปินจำเป็น ช่วยสร้างบรรยากาศของที่นี่ให้คึกครื้นและคลาคล่ำด้วยผู้คน

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

นครรัฐวาติกัน,ประเทศอิตาลี(State of the Vatican City)

นครรัฐวาติกัน (อังกฤษ: State of the Vatican City; อิตาลี: Stato della Città del Vaticano) เป็นนครรัฐที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลซึ่งน้อยที่สุดในโลกทั้งในแง่พื้นที่และประชากร ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ศูนย์กลางคือมหาวิหารนักบุญเปโตร ซึ่งออกแบบโดยมีเกลันเจโล การปกครองเป็นแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ อำนาจตกอยู่ที่พระสันตะปาปาเพียงผู้เดียว จะหมดวาระก็ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์ ปัจจุบัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556
ประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 นครรัฐวาติกันและอิตาลีได้ลงนามสนธิสัญญายอมรับสถานะของนครรัฐวาติกันเป็นรัฐเอกราชมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ตั้งแต่ ค.ศ. 1960 นครรัฐวาติกันได้รับการจารึกให้เป็นดินแดนที่จะต้องได้รับการปกป้องรักษาไว้เป็นพิเศษในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางอาวุธ (International Register of Cultural Works under Special Protection in Case of Armed Conflict) เนื่องจากเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมของโลก มีหอสมุดอันเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 (the Apostolic Library of the Vatican)
ต่อมา ในศตวรรษที่ 15 ได้มีการจัดตั้งหอจดหมายเหตุนครรัฐวาติกัน (Secret Archive of the Vatican) พิพิธภัณฑ์วาติกัน มหาวิหารนักบุญเปโตร และมีสำนักพิมพ์ของตนชื่อ the Vatican Polyglot Press ซึ่งเป็นที่จัดพิมพ์ผลงานภาษาต่างๆ รวมทั้งออกหนังสือพิมพ์รายวัน Observatore Romano ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ ค.ศ. 1861 และตั้งแต่ ค.ศ. 1931 นครรัฐวาติกันได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ถ่ายทอดเสียงภาษาต่างๆ ถึง 30 ภาษา ปัจจุบัน นครรัฐวาติกันมีสถานีวิทยุกระจายเสียง 3 สถานี สถานีโทรทัศน์ 1 สถานี
รัฐบาล
พระสันตะปาปา
พระสันตะปาปาทรงอำนาจสูงสุดทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ พระสันตะปาปาองค์ล่าสุด คือ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ชาวอาร์เจนตินาเชื้อสายอิตาลี ทรงได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556 โดยคณะพระคาร์ดินัล (College of Cardinals) ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาของสมเด็จพระสันตะปาปา โดยพระคาร์ดินัลที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปีเท่านั้นจึงจะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง พระสันตะปาปาที่ทรงได้รับเลือกตั้งแล้วตามปกติจะอยู่ในตำแหน่งไปจนตลอดพระชนม์ชีพ เว้นแต่จะมีการสละตำแหน่งพระสันตะปาปา ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านี้คือสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16ได้สละตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
การบริหารศาสนจักร
การบริหารศาสนจักรเป็นหน้าที่ของสภาปกครองโรมัน (the Roman Curia) หรือสำนักงานบริหารศาสนจักรส่วนกลาง ซึ่งมักเรียกว่าสันตะสำนัก (Holy/Apostolic See) มีหน่วยงานหลักคือ สำนักเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretariat of State) รับผิดชอบการบริหารประเทศ โดยมีพระคาร์ดินัลเลขาธิการแห่งรัฐ (Cardinal Secretary of State) เป็นหัวหน้า (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการด้านการเมืองและการทูตของนครรัฐวาติกัน
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2531 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงปรับโครงสร้างของสำนักเลขาธิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็น 2 หน่วยงาน คือ
1. The Section for General Affairs หรือ The First Section รับผิดชอบด้านการบริหารของศาสนจักรและดูแลสถานทูตต่าง ๆ ประจำนครรัฐวาติกัน หัวหน้าหน่วยงาน คือ The Substitute for General Affairs และมีผู้ช่วย คือ The Assessor for General Affairs
2. The Section for Relations with States รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการแต่งตั้งบิชอปในประเทศต่าง ๆ หัวหน้าหน่วยงาน คือ The Secretary for Relations with States และมีผู้ช่วย คือ The Under-Secretary for Relations with States
นอกจากหน่วยงานทั้งสองข้างต้นแล้วยังมีสมณะกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งเทียบได้กับกระทรวงรวม 9 กระทรวง เรียกชื่อตามลักษณะงานในความรับผิดชอบ ได้แก่
1. สมณะกระทรวงหลักความเชื่อ รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมศรัทธาและศีลธรรมทั่วโลก
2. สมณะกระทรวงการแต่งตั้งนักบุญ รับผิดชอบเกี่ยวกับขั้นตอนการประกาศเป็นนักบุญ
3. สมณะกระทรวงคริสตจักรตะวันออก รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมของคริสตจักรคาทอลิกตะวันออก (ไบแซนไทน์)
4. สมณะกระทรวงมุขนายก รับผิดชอบเกี่ยวกับการตั้งมุขนายกและมุขมณฑล
5. สมณะกระทรวงพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมการนมัสการในคริสต์ศาสนา
6. สมณะกระทรวงการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมแพร่ธรรมของมิชชันนารีในศาสนจักรในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
7. สมณะกระทรวงสถาบันชีวิตถวายแล้วและคณะชีวิตแพร่ธรรม รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลคณะนักบวชคาทอลิกคณะต่าง ๆ
8. สมณะกระทรวงบาทหลวง รับผิดชอบเกี่ยวกับบาทหลวงและผู้ช่วยบาทหลวงที่มิใช่นักบวช รวมถึงกิจกรรมและวินัยของบาทหลวงประจำมุขมณฑล
9. สมณะกระทรวงการศึกษาคาทอลิก รับผิดชอบเกี่ยวกับเซมินารี รวมทั้งการส่งเสริมและการจัดตั้งสถานศึกษาคาทอลิก โดยเฉพาะ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
เศรษฐกิจ
ศาสนจักรวาติกันมีรายได้หลักจากการสนับสนุนทางการเงินขององค์กรคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกทั่วโลก เงินรายได้นี้เรียกว่า "Peter s Pence" นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการลงทุนต่าง ๆ ภายใต้การบริหารของหน่วยงาน The Patrimony of the Holy See ค่าธรรมเนียมการเข้าชมพิพิธภัณฑ์รายได้จากการจำหน่ายหนังสือ สิ่งพิมพ์ ดวงตราไปรษณียากร ของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว
ประชากร
คนเชื้อชาติวาติกันไม่มีในโลก มีแต่พลเมืองสัญชาติวาติกันเป็นอย่างมาก นครรัฐวาติกันมีพลเมืองประมาณ 900 คน ประมาณ 200 คนเป็นสตรี และมีคนทำงานในนครวาติกัน 1,300 คน พลเมืองอันประกอบด้วยองค์สันตะปาปา คาร์ดินัล ผู้ปกครองนครรัฐ วาติกัน เจ้าหน้าที่ประจำวาติกัน และทหารสวิสมีหอกโบราณเป็นอาวุธประดับเกียรติ ซึ่งเป็นองครักษ์ของสันตะปาปาประมาณ 100 คน ทหารสวิส มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1506 การแต่งกายของทหารสวิส กล่าวกันว่าเครื่องแบบออกแบบโดย “มีเกลันเจโล” แต่แท้จริงแล้ว "ราฟาเอล" คือบุคคลที่พัฒนาชุดตามอิทธิพลทางศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและภาพเขียนของเขา ทหารสวิสทุกคนเป็นชาวสวิส และเป็นคาทอลิกที่ดีทหารสวิสแต่ละคนจะประจำการชั่วระยะหนึ่ง นอกจากนั้นก็ได้แก่เจ้าหน้าที่ทูตวาติกันที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย พลเมืองวาติกันเหล่านี้จะมีสัญชาติวาติกันเฉพาะในขณะดำรงตำแหน่งหรือเป็นภรรยาของพลเมืองวาติกัน หรือเป็นบุตรที่มีอายุไม่เกิน 25 ของพลเมืองวาติกัน บุตรคนใดอายุถึง 25 ปี ต้องกลับคืนสัญชาติเดิม ผู้ถือสัญชาติวาติกัน หากพ้นตำแหน่งเมื่อใดก็ต้องคืนสู่สัญชาติเดิมของตน พร้อมด้วยบุคคลทุกคนในครอบครัวที่ถือสัญชาติวาติกัน หากชาติเดิมของตนไม่ยอมรับให้ขอสัญชาติอิตาลีซึ่งรัฐบาลอิตาลีมีข้อผูกมัดต้องรับเสมอ

หอเอนเมืองปิซา เมืองปิซา,ประเทศอิตาลี(The Leaning Tower of Pisa)


หอเอนเมืองปิซา (อิตาลี: Torre pendente di Pisa หรือ La Torre di Pisa; อังกฤษ: Leaning Tower of Pisa) ตั้งอยู่ที่เมืองปิซา ในจัตุรัสเปียซซา เดล ดูโอโม (Piazza Del Duomo) หอระฆังของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เป็นหอทรงกระบอก 8 ชั้น สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว สูง 183.3 ฟุต (55.86 เมตร) น้ำหนักรวม 14,500 ตันโดยประมาณ มีบันได 293 ขั้น เอียง 3.97 องศา ยอดของหอห่างจากแนวตั้งฉาก 3.9 เมตร
การสร้าง
เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1173 สร้างเสร็จเมื่อปี 1350 ใช้เวลาสร้างประมาณ 175 ปี แต่การก่อสร้างหยุดชะงักเมื่อสร้างไปได้ถึงชั้น 3 เนื่องจากพื้นใต้ดินเป็นพื้นดินที่นิ่ม ทำให้ยุบตัว ต่อมาในปี ค.ศ.1272 โดย จีโอแวนนี่ ดี สิโมน สร้างให้เอนกลับไปอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สมดุล แต่การก่อสร้างในครั้งนี้ ก็ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งเนื่องจากเกิดสงคราม ต่อมาก็มีการสร้างหอต่อขึ้นอีกและสร้างเสร็จ 7 ชั้น ในปี ค.ศ.1319 แต่หอระฆังถูกสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1372 โดยใช้เวลาสร้างทั้งหมด 177 ปี
ประวัติ
กาลิเลโอ กาลิเลอิ เคยใช้หอนี้ทดลองเกี่ยวกับเรื่อง แรงโน้มถ่วง ในตอนที่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยปิซา โดยใช้ลูกบอล 2 ลูกที่น้ำหนักไม่เท่ากันทิ้งลงมา เพื่อพิสูจน์ว่า ลูกบอล 2 ลูกจะตกถึงพื้นพร้อมกัน ซึ่งก็เป็นไปตามที่กาลิเลโอคาดไว้
ในปี ค.ศ.1934 เบนิโต มุสโสลินี พยายามจะทำให้หอกลับมาตั้งฉากดังเดิม โดยเทคอนกรีตลงไปที่ฐาน แต่กลับทำให้หอยิ่งเอียงมากขึ้นไปอีก กองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ยิงปืนใหญ่ใส่หอเอนเมืองปิซา
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1964 รัฐบาลอิตาลี พยายามหยุดการเอียงของหอเอนเมืองปิซา โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น วิศวกร นักคณิตศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ โดยใช้เหล็กรวมกว่า 800 ตัน ค้ำไว้ไม่ให้หอล้มลงมา
ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1990 หอเอนเมืองปิซาถูกปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เพื่อความปลอดภัย อีกทั้งยังขุดดินของอีกด้านหนึ่งออก เพื่อให้สมดุลยิ่งขึ้น และในวันที่ 15 ธันวาคม 2001 หอเอนเมืองปิซาถูกเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้ง และถูกประกาศว่าสมดุลแล้วใน 300 ปีต่อมาหลังจากเริ่มทำการปรับปรุง
ค.ศ.1987 หอเอนเมืองปิซาถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Piazza Dei Miracoli หอเอนเมืองปิซายังเป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางอีกด้วย

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

โคลอสเซียม กรุงโรม,ประเทศอิตาลี(Colosseum Rome,Italy)


          โคลอสเซียมโคลิเซียม หรือทวิอัฒจันทร์ฟลาเวียน เป็นสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโรม เริ่มสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเวสเปเซียนแห่งจักรวรรดิโรมัน และสร้างเสร็จในสมัยของจักรพรรดิไททัส ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 อัฒจันทร์เป็นรูปวงกลมก่อด้วยอิฐและหินทรายวัดโดยรอบได้ประมาณ 527 เมตร สูง 57 เมตร สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 50,000 คน มีการออกแบบอย่างชาญฉลาดโดยสร้างให้สนามกีฬามีลักษณะเป็นรูปวงรี เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเข้าใกล้นักกีฬา และมีการออกแบบทางระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในสนามขณะเกิดฝนตก ถือเป็นต้นแบบของสนามกีฬาต่างๆในปัจจุบัน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 10 ปี

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

เวนิส,ประเทศอิตาลี(Venice,Italy)


เวนิส หรือ เวเนเซีย เป็นเมืองหลวงของแคว้นเวเนโตประเทศอิตาลี มีประชากร 271,663 คน เมืองเวนิสได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งทะเลเอเดรียติก (Queen of the Adriatic), เมืองแห่งสายน้ำ (City of Water), เมืองแห่งสะพาน (City of Bridges) และเมืองแห่งแสงสว่าง (The City of Light) เมืองเวนิสถูกสร้างขึ้นจากการเชื่อมเกาะเล็กๆ จำนวนมากเข้าด้วยกันในบริเวณทะเลสาบเวนิเทีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลเอเดรียติก ในภาคเหนือของประเทศอิตาลี ทะเลสาบน้ำเค็มนี้ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งระหว่างปากแม่น้ำโปกับแม่น้ำปลาวี มีผู้อยู่อาศัยโดยประมาณ 272,000 คน ซึ่งนับรวมหมดทั้งเวนิส โดยมี 62,000 คนในบริเวณเมืองเก่า 176,000 คนในแตร์ราแฟร์มา (Terraferma) และ 31,000 คนในเกาะอื่น ๆ ในทะเลสาบ
ลักษณะภูมิอากาศ
เวนิสมีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นเพราะอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี มีปริมาณน้ำฝนคงที่ตลอดทั้งปี ในฤดูร้อนจะอากาศจะค่อนข้างร้อน อุณหภูมิเฉลี่ย 21-26 บางวันอาจสูงถึง 30 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็นอุณหภูมิเฉลี่ย 2-8 องศาเซลเซียส บางครั้งอาจจะต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
ประวัติศาสตร์
เวนิสก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 5 โดยผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการบุกรุกจากทางเหนือ พวกเขาได้สร้างถิ่นฐานที่เป็นเอกลักษณ์ในหมู่เกาะเวนิสเพื่อป้องกันการจู่โจมจากภายนอก เวนิสเป็นเมืองบริวารของจักรวรรดิไบเซนไทน์จนกระทั่งศตวรรษที่ 10 เริ่มต้นด้วยการเป็นเส้นทางการค้าไปยังลิแวนต์ เวนิสเริ่มเป็นที่รู้จักหลังสงครามครูเสดที่ 4 (ค.ศ.1202-1204) ในฐานะเจ้าอาณานิคมในจักรวรรดิที่รวมครีต ยูบีอา ซิคละดีส หมู่เกาะไอโอเนียน และ ฐานที่มั่นในโมเรียและ อิพิรัสเข้าด้วยกัน ในปี 1381 เวนิสได้พ่ายแพ้ให้กับเจนัวหลังจากที่มีการต่อสู้ทางการค้ายาวนานกว่าศตวรรษในลิแวนด์และเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ในศตวรรษที่15 มีการรวบรวมเมืองต่างๆ ในภูมิภาคใกล้เคียง ทำให้สาธารณรัฐเวนิสกลายเป็นรัฐหนึ่งของอิตาลี เขตปกครองของเวนิสเดิมค่อยๆ สูญเสียไปให้กลุ่มเติร์กทีละน้อยหลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานถึงสามศตวรรษจนกระทั่งเสียดินแดนสุดท้ายที่อีเจียนให้แก่กลุ่มเติร์กในปี 1715 ต่อมาในปี 1797 เวนิสตกอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรีย หลังจากเกิดการปฏิวัติในออสเตรีย เวนิสถูกปลดปล่อยคืนให้อิตาลีในปี 1899 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เวนิสได้รับความเสียหายเล็กน้อย แต่มาเกิดความเสียหายรุนแรงช่วงปี 1966 จากเหตุการณ์น้ำท่วมเนื่องจากน้ำล้นคลองที่มีอยู่หลายแห่งทั่วเวนิส การบูรณะและพยายามรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมซึ่งรวมถึงสถาปัตยกรรมรูปแบบอิตาลี อาหรับ ไบเซนไทน์และเรอเนสซองค์ ทำได้ยากเนื่องจากระดับน้ำในทะเลสาบขึ้นสูงและเกิดน้ำท่วมในตัวเมืองเป็นประจำ ปัจจุบันเวนิสมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คึกคักและยังมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเวเนโต
ประชากรเวนิส
เวนิชมีผู้อยู่อาศัยโดยประมาณ 272,000 คน ซึ่งนับรวมหมดทั้งเวนิส โดยมี 62,000 คนในบริเวณเมืองเก่า 176,000 คนในแตร์ราแฟร์มา (Terraferma) และ 31,000 คนในเกาะอื่น ๆ ในทะเลสาบ
การคมนาคม
เวนิชเป็นเมืองที่มีการใช้คลองในการคมนาคมมากที่สุด มีอาคาร ร้าน บ้านเมืองตั้งริมคลอง มีเรือบริการในการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ของเมืองมีการบริการท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ธรรมชาติของ 2 ฝั่งคลองโดยทางเรือ นับเป็นเมืองที่คลองมากกว่าถนนอีกเมืองหนึ่งของโลก
สถานที่ท่องเที่ยว
มหาวิหารเซนต์มาร์ก